Wednesday, 6 December 2023

องค์ประกอบคอมพิวเตอร์ มีกี่ส่วน?

03 Jun 2022
984
องค์ประกอบคอมพิวเตอร์ มีกี่ส่วน

คอมพิวเตอร์เป็นเครื่องมือการทำงานที่สำคัญมากในยุคปัจจุบัน โดยหากมีเพียงแค่คอมพิวเตอร์ คอมพิวเตอร์จะไม่สามารถทำงานเองได้ นี่จึงเป็นส่วนสำคัญที่เกิดองค์ประกอบคอมพิวเตอร์ทั้ง 5 ส่วนขึ้นมา มี ฮาร์ดแวร์ , ซอฟต์แวร์ , บุคลากร , ข้อมูลและสารสนเทศ , กระบวนการทำงาน



1. ฮาร์ดแวร์ (Hardware)


ฮาร์ดแวร์ (Hardware) เป็นระบบคอมพิวเตอร์ที่สามารถจับต้องได้ เช่น เมาส์ , แป้นพิมพ์ , ซีพียู , เคส , เป็นต้น ส่วนประกอบของฮาร์ดแวร์แบ่งได้ 5 หน่วยสำคัญดังนี้

1.1 หน่วยรับข้อมูล (Input Unit) ทำหน้าที่รับข้อมูลเข้าสู่คอมพิวเตอร์ โดยอุปกรณ์ที่นำเข้าข้อมูล มี กล้องเว็บแคม แป้นพิมพ์ เมาส์ เครื่องสแกน เป็นต้น

1.2 หน่วยความจำ (Memory Unit) ทำหน้าที่เก็บข้อมูลจากหน่วยรับข้อมูล เพื่อเตรียมส่งให้กับหน่วยประมวลผลกลาง และนำผลลัพธ์ที่ได้จากการประมวลผล ส่งออกไปยังหน่วยแสดงข้อมูล



1.3 หน่วยประมวลผลกลาง (CPU หรือ Central Processing Unit) ทำหน้าที่ในการประมวลผลตามคำสั่ง และหน่วยประมวลผลยังแบ่งออกเป็น 2 หน่วย ได้แก่ หน่วยคำนวณเลขคณิตและตรรกวิทยา (ALU หรือ Arithmetic and Logical Unit) และ หน่วยควบคุม (CU หรือ Control Unit)

1.4 หน่วยเก็บข้อมูลสำรอง (Secondary Storge) ทำหน้าที่เก็บข้อมูลที่จะส่งเข้าสู่หน่วยความจำหลัก ก่อนทำการประมวลผลโดย ซีพียู (Central Processing Unit)รวมทั้งเป็นแหล่งเก็บผลลัพธ์จากการประมวลผล เพื่อใช้ในภายหลัง

1.5 หน่วยแสดงข้อมูล (Output Unit) เป็นหน่วยที่ทำหน้าที่แสดงผลลัพธ์จากการประมวลผลผ่านอุปกรณ์ส่งออก (Output) เช่น จอภาพ เครื่องปริ้น ลำโพง หูฟัง โปรเจคเตอร์ เป็นต้น


2. ซอฟต์แวร์ (Software)


ซอฟต์แวร์ (Software) คือ ส่วนหนึ่งของระบบคอมพิวเตอร์ที่ใช้ในการเก็บและประมวลผลข้อมูล เป็นชุดคำสั่งที่บอกวิธีการทำงานของคอมพิวเตอร์ ซึ่งต่างกับ ฮาร์ดแวร์ (Hardware) ที่เราสามารถจับต้องได้

ซอฟต์แวร์ (Software) มี 2 ประเภทได้แก่ 1. ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) 2. ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) ซึ่งมีรายละเอียดมีดังนี้



2.1 ซอฟต์แวร์ระบบ (System Software) คือซอฟต์แวร์ที่ใช้จัดการระบบ เพื่อดำเนินการต่าง ๆ ของระบบคอมพิวเตอร์ เช่น พิมพ์ข้อมูลผ่านแป้นพิมพ์เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ เจ้าซอฟต์แวร์ระบบจะทำการแปลความหมายให้คอมพิวเตอร์เข้าใจ และนำข้อมูลที่ได้ไปแสดงผลในอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์ ที่สามารถแสดงผลออกไปได้ (OutPut)

2.2 ซอฟต์แวร์ประยุกต์ (Application Software) คือ โปรแกรมที่ผู้ใช้เขียนขึ้นมาเพื่อตอบสนองความต้องการ เช่น ความสะดวกรวดเร็ว เข้าใจง่าย ใช้งานได้หลากหลาย ซอฟต์แวร์ประยุกต์ที่ได้รับความนิยมและใช้งานกันแพร่หลาย เช่น โปรแกรมประมวลผลคำ โปรแกรมคำนวณ โปรแกรมจัดการฐานข้อมูล เป็นต้น


3. บุคลากร (Peopleware)


บุคลากรเป็นสิ่งสำคัญที่จะเป็นตัวกำหนดถึงประสิทธิภาพถึงความสำเร็จ และความคุ้มค่าในการใช้งานคอมพิวเตอร์ ซึ่งสามารถแบ่งบุคลากรตามหน้าที่ ตามลักษณะงานได้ 6 ด้าน ดังนี้

3.1 นักวิเคราะห์และออกแบบระบบ (Systems Analyst and Designer : SA) ทำหน้าที่ศึกษาและรวบรวมความต้องการของผู้ใช้ระบบ และทำหน้าที่เป็นสื่อกลางระหว่างผู้ใช้ระบบและนักเขียนโปรแกรมหรือปรับปรุงคุณภาพงาน นักวิเคราะห์ระบบต้องมีความรู้เกี่ยวกับระบบคอมพิวเตอร์ และพื้นฐานการเขียนโปรแกรม และควรจะเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์มีมนุษยสัมพันธ์

3.2 โปรแกรมเมอร์ (Programmer) คือบุคคลที่ทำหน้าที่เขียนซอฟต์แวร์ต่าง ๆ (Software) หรือเขียนโปรแกรมเพื่อสั่งงานให้เครื่องคอมพิวเตอร์ทำงานตามความต้องการของผู้ใช้ โดยเขียนตามแผนผังที่นักวิเคราะห์ระบบได้เขียนไว้

3.3 ผู้ใช้ (User) เป็นผู้ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะเป็นผู้ปฏิบัติหรือกำหนดความต้องการในการใช้ระบบคอมพิวเตอร์ว่าทำงานอะไรได้บ้าง ผู้ใช้งานคอมพิวเตอร์ทั่วไป จะต้องเรียนรู้วิธีการใช้เครื่อง และวิธีการใช้งานโปรแกรม เพื่อให้โปรแกรมที่มีอยู่สามารถทำงานได้ตามที่ต้องการ



3.4 ผู้ปฏิบัติการ (Operator) สำหรับระบบขนาดใหญ่  เช่น เมนเฟรม  จะต้องมีเจ้าหน้าที่คอมพิวเตอร์ที่คอยปิดและเปิดเครื่อง  และเฝ้าดูจอภาพเมื่อมีปัญหาซึ่งอาจเกิดขัดข้อง  จะต้องแจ้ง System  Programmer ซึ่งเป็นผู้ดูแลตรวจสอบแก้ไขโปรแกรมระบบควบคุมเครื่องอีกทีหนึ่ง

3.5 ผู้บริหารฐานข้อมูล (Database Administrator : DBA) บุคคลที่ทำหน้าที่ดูแลข้อมูลผ่านระบบจัดการฐานข้อมูล ซึ่งจะควบคุมให้การทำงานเป็นไปอย่างราบรื่น นอกจากนี้ยังทำหน้าที่กำหนดสิทธิการใช้งานข้อมูล พร้อมทั้งดูแลดาต้าเบสเซิร์ฟเวอร์ให้ทำงานอย่างปกติด้วย

3.6  ผู้จัดการระบบ (System Manager) คือ ผู้วางนโยบายการใช้คอมพิวเตอร์ให้เป็นไปตามเป้าหมายของหน่วยงาน  เป็นผู้ที่มีความหมายต่อความสำเร็จหรือล้มเหลวของการนำระบบคอมพิวเตอร์เข้ามาใช้งานเป็นอย่างมาก


4. ข้อมูลและสารสนเทศ (Data & Information)


4.1 ข้อมูล (Data) หมายถึงข้อเท็จจริงหรือเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น แล้วใช้ตัวอักษรตัวเลข หรือสัญลักษณ์ต่าง ๆ แสดงความหมายแทนสิ่งเหล่านั้น

4.2 สารสนเทศ (Information) หมายถึงข้อสรุปต่าง ๆ ที่ได้จากการนำข้อมูลมาทำการวิเคราะห์ หรือผ่านวิธีการที่ได้กำหนดขึ้น ทั้งนี้เพื่อนำข้อมูลไปใช้งานหรืออ้างอิง


5. กระบวนการทำงาน (Procedure)


องค์ประกอบด้านนี้หมายถึง กระบวนการทำงานเพื่อให้ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ ในการทำงานกับคอมพิวเตอร์ โดยผู้ใช้จำเป็นต้องทราบขั้นตอนการทำงานเพื่อให้ได้งานที่ถูกต้องและมีประสิทธิภาพ ซึ่งอาจจะมีขั้นตอนสลับซับซ้อนหลายขั้นตอน ดังนั้นจึงมีความจำเป็นต้องมีคู่มือปฏิบัติงาน เช่น คู่มือผู้ใช้ (user manual) หรือคู่มือผู้ดูแลระบบ (operation manual) เป็นต้น


อ้างอิง : Srcom608