

หลายคนต้องเคยมีประสบการณ์นอนเยอะตื่นสาย เพื่อชดเชยวันที่นอนดึก โดยนอนให้ถึงเกณฑ์มาตรฐานประมาณ 8 – 10 ชั่วโมง แต่ดันกลับตื่นขึ้นมาแล้วยังมีอาการเพลีย ตื่นมาแล้วไม่สดชื่น โดยผลวิจัยทางวิทยาศาสตร์ชี้ว่า สมองของเราจะทำงานแม้ในขณะเราหลับอยู่ ตอนหลับสมองจะทำงานเป็นรอบ ๆ ซึ่งจะกินเวลาประมาณ 90 นาที ทำให้เกิดช่วงที่เรียกว่า “หลับลึก” และ “หลับตื้น”
ถ้าเราตื่นมาช่วงที่หลับลึก จะทำให้งัวเงียและอ่อนเพลียเหมือนไม่ได้นอน นี่จึงเป็นเหตุผลสำคัญของบทความนี้ ที่คุณต้องปรับนิสัยการนอนให้ตื่นตอนหลับตื้น เพื่อเวลาตื่นจะได้สดใส และมีแรงในการทำกิจวัตรประจำวันได้ดียิ่งขึ้น
การทำงานของสมองขณะหลับ
NON REM (NON Rapid Eye Movement) เป็นการนอนหลับในช่วงเริ่มต้น โดยแบ่งได้อีก 3 ระยะตามนี้ ระยะที่ 1 เป็นช่วงเริ่มหลับ มีอาการงัวเงีย ใช้เวลาประมาณ 5 – 10 นาที ระยะที่ 2 หัวใจเต้นช้าลง ช่วงนี้ยังรับรู้ความเคลื่อนไหวรอบข้างได้อยู่ ช่วงนี้จะใช้เวลาอีก 20 นาที ระยะที่ 3 หลับลึก ร่างกายจะได้พักผ่อนและฟื้นฟูดีที่สุดในระยะนี้ ถ้าหากถูกปลุกในช่วงหลับลึก ร่างกายจะอ่อนเพลีย ง่วงเหงาหาวนอน รวมระยะเวลาในช่วงการหลับแบบ NON REN จะอยู่ที่ประมาณ 80 นาที
REM (Rapid Eye Movement) การนอนชนิดนี้ใช้เวลาลาประมาณ 1 ใน 4 ของระยะเวลาการนอนทั้งหมด ความสามารถพิเศษคือสมองจะอยู่ในสภาวะใกล้เคียงกับตอนตื่น ทำให้เวลาตื่นรู้สึก สดชื่น และตื่นตัว ฉะนั้นใน 1 รอบ หรือ 1 cycle ของการทำงานของสมองขณะหลับจะกินเวลาประมาณ 90 นาที และวนไปแบบนี้ตลอดทั้งคืน
โปรแกรมคำนวณเวลานอนที่เหมาะสม
อย่างที่ทราบกันดีเวลานอนของแต่ละคนไม่เท่ากัน ดังนั้นทางเราจึงได้ทำวิธีใช้เครื่องมือคำนวณเวลานอนที่เหมาะสมมาให้ เพื่อที่ผู้อ่านสามารถไปตั้งเวลานอนส่วนตัวของตัวเองได้
1. เข้าเว็บไซต์คำนวณเวลานอนที่เหมาะสม > Sleepcalculator
2. ถ้าคุณอยากตื่นนอนตอนไหนก็ให้ใส่เวลาลงไป เช่น ผมอยากตื่น 5.30 น. ผมก็เลือกในช่องชั่วโมงเป็นเลข 5 ส่วนนาทีก็ใส่เลข 30 ด้านท้ายสุดค่อนข้างสำคัญเพราะเป็นตัวกำหนดเวลาช่วงเช้าและช่วงกลางวันถึงช่วงมืดค่ำ โดย AM ใช้ตั้งแต่ 24.00 น. ถึง 11.59 น. (11 โมงเช้า) PM ใช้ตั้งแต่ 12.00 น. ถึง 11.59 น. (5 ทุ่ม) ดังนั้นผมต้องการตื่น 5.30 น. ผมก็ต้องเลือกเป็น AM
3. กดปุ่ม “ฉันควรจะหลับตอน ?” เมื่อคลิกสำเร็จ เว็บไซต์จะคำนวณช่วงเวลาที่เหมาะสมในการนอนมาให้ ซึ่งของผมได้เวลา 20.30 น. , 22.00 น. , 23.00 น. , 1.00 น. เราสามารถเลือก 1 ใน 4 ของการนอนได้ ตามความสะดวกได้เลย แต่ตอนเลือกต้องดูดี ๆ ว่าได้นอนกี่ชั่วโมง
4. และถ้าหากเราจะนอนทันทีจะใช้เครื่องมืออย่างไร ? ขั้นแรกเมื่อคุณเข้าเว็บไซต์ > Sleepcalculator คุณไม่จำเป็นต้องใส่เวลาเลย ให้คุณกด “ฉันจะตื่นนอนตอนไหน” เพียงเท่านี้ระบบจะคำนวณเวลาปัจจุบันและแสดงผลเวลาที่ควรตื่นนอนให้เราแล้ว
อายุเท่าไหร่ ควรนอนวันละกี่ชั่วโมง
เด็กแรกเกิด (อายุ 0 – 3 เดือน) ควรนอน 14 – 17 ชั่วโมงต่อวัน
เด็กทารก (อายุ 4 – 11 เดือน) ควรนอน 12 – 15 ชั่วโมงต่อวัน
เด็ก (อายุ 1 – 2 ปี) ควรนอน 11 – 14 ชั่วโมงต่อวัน
วัยอนุบาล (3 – 5 ปี) ควรนอน 10 – 13 ชั่วโมงต่อวัน
วัยประถม (6 – 13 ปี) ควรนอน 9 – 11 ชั่วโมงต่อวัน
วัยมัธยม (14 – 17 ปี) ควรนอน 8 – 10 ชั่วโมงต่อวัน
วัยรุ่น (18 – 25 ปี) ควรนอน 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน
วัยทำงาน (26 – 64 ปี) ควรนอน 7 – 9 ชั่วโมงต่อวัน
วัยชรา (65 ปีขึ้นไป) ควรนอน 7 – 8 ชั่วโมงต่อวัน
อ้างอิง : Sleepcalculator , Pptvhd36